
ยานเกราะสายพานแบบ Type 89 AFV แห่งกองกำลังป้องกันตนเองทางบกญี่ปุ่น นั้นถูกใช้ในภารกิจสำหรับเป็นยานเกราะรบสำหรับหน่วยทหารราบหรือที่เรียกว่า IFV : Infantry Fighting Vehicle

Type 89 ถูกพัฒนาขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 1980 ช่วงเริ่มต้นมีการสร้างต้นแบบขึ้นมาทั้งหมดจำนวน 4 คันเมื่อปี 1984 และเข้าทำการทดสอบจนถึงปี 1986 และเข้าประประจำการในปี 1989 โดยกองกำลังป้องกันตนเองทางบกญี่ปุ่นนั้นมีความต้องการ Type 89 เข้าประจำการจำนวนมากถึง 300 คัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะอยู่ภายใต้ข้อตกลงในการสร้างและผลิต Type 89 ให้กับกองกำลังป้องกันตนเองทางบกญี่ปุ่นโดย บริษัท Mitsubishi Heavy Industries ซึ่งจะทำงานร่วมกับบริษัท Komatsu Limited.

ตัวถังของ Type 89 นั้นทำมาจากเหล็กเชื่อมไม่ได้มีการหล่อขึ้นรูปแต่อย่างใด ตัวรถขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล Mitsubishi 6SY31WA แบบ 6 ลูกสูบระบายความร้อนด้วยน้ำ ให้กำลังเครื่องยนต์ 600 แรงม้า และเครื่องยนต์นี้จะถูกวางอยู่ที่บริเวณด้านหน้าของตัวรถ พร้อมกับระบบเกียร์อัตโนมัติเพื่อลดภาระให้กับพลขับของยานเกราะ ด้านระบบสายพานนั้นประกอบด้วยระบบรับแรงกระแทกแบบ Torsion Bar ที่ทำออกมาให้มีความสามารถในการซึมซับแรงกระแทกเป็นอย่างดี แต่ละด้านมีล้อกดสายพานข้างละ 6 ล้อเพื่อเสถียรภาพในการขับเคลื่อนที่ดีกว่า ยานเกราะลำเลียงพลแบบ Type 60 และ Type 73 ที่เข้าประจำการมาก่อนหน้านี้ที่มีล้อกดสายพานเพียงด้านละ 5 ล้อเท่านั้น ซึ่งข้อเสียที่ Type 89 ได้พัฒนาขึ้นมาจากพื้นฐานของยานเกราะหลายๆรุ่นๆของกองกำลังป้องกันตนเองทางบกญี่ปุ่นในอดีตที่มักจะมีอาการสายพานหลุดออกจากล้อกดสายพายได้ง่ายเมื่อทำการเลี้ยวด้วยความเร็วที่สูง หรือเมื่อทำการเลี้ยวบนสภาพภูมิประเทศพื้นที่ไม่ค่อยจะเรียบและราบ

ที่ตัวถังของ Type 89 นั้นได้มีการออกแบบให้มีช่องยิงสำหรับกำลังพลที่อยู่ด้านใน หรือที่เรียกว่า Firing Port เพื่อให้กำลังพลด้านในสามารถนำปืนเล็กยิงออกมาจากด้านในได้ในกรณีที่ระบบปืนหลักของยานเกราะไม่สามารถทำการยิงได้ หรือสามารถทำการรบภายในเมืองได้อย่างปลอดภัยมากขึ้นเนื่องจากไม่ต้องออกมายิงนอกตัวรถ ซึ่ง Type 89 นั้นมีช่อง Firing Port อยู่ที่ตัวถังด้านละ 3 ช่องและบริเวณประตูด้านหลัง 1 ช่อง รวมแล้ว 7 ช่อง ซึ่งทำให้ออกมาพอดีกับกำลังพลที่ Type 89 สามารถบรรทุกไปได้ก็คือ 3+7 คน โดยในที่นี้คือ เป็นกำลังพลประจำรถจำนวน 3 คนและหน่วยทหารราบหรือหน่วยกำลังพลที่บรรทุกไปด้วยได้อีก 7 คน


บริเวณตรงกลางตัวรถนั้น Type 89 ติดตั้งป้อมปืนขนาด 35 มิลลิเมตรแบบ Oerlikon KDA หรือปืนใหญ่กลต่อสู้อากาศยานแบบ GDF ที่ปกติจะเป็นแบบ 2 ลำกล้อง แต่ใน Type 89 จะใช้เพียง 1 ลำกล้อง โดยตัวป้อมนั้นจะใช้กำลังพล 2 คนในการปฏิบัติการด้วยป้อมปืนดังกล่าว และปืนกลรองแบบ Type 74 ขนาด 7.62 มิลลิเมตรเป็นปืนกลร่วมแกน นอกจานี้ยังติดตั้งอาวุธหนักไปด้วยก็คืออาวุธนำวิธีต่อสู้รถถังแบบ Type 79 Jyu-MAT จำนวน 2 นัดซึ่งแต่ละนัดนั้นจะแยกกันติดตั้งที่ด้านซ้ายและขวาของตัวป้อมปืน ตัวอาวุธนำวิถีต่อสู้รถถถังแบบ Jyu-MAT นั้นนำวิถีด้วยเส้นลวด (Wired SACLOS) เช่นเดียวกับ TOW ของอเมริกา



สถานการณ์ในปัจจุบัน
จากเดิมที่มีความต้องการ Type 89 AFV/IFV เข้าประจำการในหน่วยยานเกราะทหารราบของกองกำลังป้องกันตนเองทางบกญี่ปุ่น ประมาณ 300 คัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงปัจจุบันกลับนำเข้าประจำการได้เพียง 68 คันเท่านั้น โดยมีการจัดหา Type 89 ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2004 เป็นจำนวนเพียง 1 คันเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าตัวรุ่น AFV/IFV อย่าง Type 89 นั้นจะไม่ได้จัดหาเข้าประจำการเพิ่มแล้ว แต่ก็ยังคงส่งมอบรูปแบบของตัวรถหรือแคร่รถนั้นไปใช้ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 155L52 จนกลายเป็นปืนใหญ่อัตราจรแบบ Type 99 ที่กองกำลังป้องกันตนเองทางบกญี่ปุ่นสั่งจัดหาเข้าประจำการอยู่จนถึงปัจจุบันแทน

โดยในอนาคตนั้นทางกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นนั้นได้มีการวางแผนที่จะทำการวิจัยและพัฒนายานเกราะแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพและความยืดหยุนในภารกิจสูงกว่า Type 89 เข้ามาประจำการแทนที่ ซึ่งก็ยังคงไม่มีแบบแผนที่ชัดเจนออกมาเท่าใดนัก เนื่องจากการการออกแบบยายเกราะสายพานใหม่นี้เข้ามาทำหน้าที่ที่มีความหลากหลายกว่าเดิม รวมไปถึงต้องมีความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกับยานเกราะสายพานสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกอย่าง AAV-7 ที่เข้าประจำไปก่อนหน้านี้แล้วได้ด้วย ซึ่งที่มีการกำหนดดเช่นนี้ก็เพื่อให้กองกำลังป้องกันตนเองทางบกนั้นสามารถปฏิบัติการร่วมกับกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลในการไปปฏิบัติการยกพลขึ้นยังเกาะต่างๆที่เป็นอาณาเขตและดินแดนของญี่ปุ่นเพื่อปฏิบัติการต่างๆได้อย่างสะดวกและสมบูรณ์มากขึ้นต่อไป
เขียน และเรียบเรียงโดย : แอดป๋อม
ตัวหนังสืออ่านยากครับ ช่วยแก้ไขที