
Type 99 ปืนใหญ่อัตราจรขนาด 155 มิลลิเมตร หรือชื่อในภาษาญี่ปุ่น (99式自走 155 mm 榴弾砲 kyuu-kyuu-shiki-jisou-155mm-ryuudan-hou) ของกองกำลังป้องกันตนเองทางบกญี่ปุ่น ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทดแทน ปืนใหญ่อัตราจรแบบ Type 75 ขนาด 155 มิลลิเมตร ที่เข้าประจำการมาตั้งแต่ปี 1975

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง Type 99 และ Type 75 นั้นคือความยาวของลำกล้องปืน ที่มีความยาวมากขึ้นกว่าเดิม จากเดิมที่มีความยาว 30 คาลิเบอร์ใน Type 75 นั้นมีความยาวเพิ่มขึ้นเป็น 52 คาลิเบอร์ ซึ่งจะทำให้สามารถยิงกระสุนออกไปได้ไกลกว่าเดิม 11 กิโลเมตร จากระยะยิงเพียง 19 กิโลเมตรของ Type 75 เป็น 30 กิโลเมตรสำหรับลูกกระสุนแบบปกติ และระยะยิง 40 กิโลเมตรสำหรับกระสุนต่อระยะ
ระบบควบคุมการยิงของ Type 99 นั้นถูกออกแบบและผลิตโดย Mitsubishi Heavy Industries (MHI) และลำกล้องปืนใหญ่ขนาด 155 มิลลิเมตร ความยาว 52 คาลิเบอร์นั้นถูกสร้างโดย Japan Steel Works
การวิจัย Type 99 นั้นเริ่มต้นในปี 1985 ซึ่งแน่นอนว่าหลังจากที่ประสบความสำเร็จในการสร้างป้อมปืนและปืนใหญ่ของ Japan Steel Works ทำให้บริษัทนี้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการและออกแบบป้อมปืนและตัวปืนใหญ่ของ Type 99 อีกครั้ง โดยในขั้นตอนการออกแบบของ Type 99 นั้นใช้งบประมาณในการพัฒนาไปมากถึง 5,000 ล้านเยนในปี 1992 และหลังจากการวิจัยเสร็จสมบูรณ์ Type 99 ระบบแรกถูกส่งมอบให้กับกองกำลังป้องกันตนเองทางบกญี่ปุ่นในปี 1999

แคร่รถของ Type 99 นั้น ใช้ตัวแคร่รถจากยานเกราะทหารราบแบบ Type 89 ซึ่งผลิตโดย Mitsubishi Heavy Industries(MHI) แต่มีความแตกต่างจาก Type 89 ตรงที่มีการเพิ่มล้อกดสายพานจาก Type 89 ที่มี 6 ล้อเป็น 7 ล้อ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพในการเคลื่อนที่ และทำการติดตั้งป้อมปืนใหญ่ขนาด 155 มิลลิเมตรลงไป โดย Type 99 นั้นมีระบบอาวุธสำหรับป้องกันตนเองคือ ปืนกลขนาด 12.7 มิลลิเมตรแบบ M2HB ที่ติดตั้งบนหลังคาของป้อมปืนใหญ่พร้อมกับเกราะป้องกันพลปืน นอกจากนี้แคร่รถของ Type 99 นั้นยังมีความสามารถในการป้องกันกระสุนปืนเล็กขนาด 7.62 มิลลิเมตร รวมไปถึงสามารถป้องกันแรงกระแทกและสะเก็ดระเบิดจากกระสุนปืนใหญ่ได้ในระดับนึงด้วยเช่นกัน

Type 99 นั้นขับเคลื่อนด้วย เครื่องยนต์ดีเซล Mitsubishi 6SY31WA แบบ 6 ลูกสูบ ให้กำลังเครื่องยนต์ 600 แรงม้า สามารถทำความเร็วได้ที่ 49.6 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระบบช่วงล่างแบบ Torsion Bar มีความสามารถในการปฏิบัติการได้ไกล 300 กิโลเมตร และสามารถทำการเติมกระสุนได้ด้วยรถเติมกระสุนแบบ Type 99 Ammunition Resupply Vehicle

การเข้าประจำการ
ด้วยความสามารถในระดับสูงของ Type 99 นั้น ทำให้ต้นทุนด้านราคาของ Type 99 จำนวน 1 ระบบนั้นพุ่งสูงถึงระบบละ 960 ล้านเยนต่อระบบ ที่ต้องบอกว่าเป็นระบบเนื่องจากใน 1 ระบบการทำงานของ Type 99 นั้นประกอบด้วย
- ปืนใหญ่อัตราจรแบบ Type 99
- รถเติมกระสุนแบบ Type 99 Ammunition Resupply Vehicle

ซึ่งด้วยราคาที่สูงเช่นนี้ทำให้กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นนั้นสามารถสั่ง Type 99 เข้าประจำการต่อปีได้ในจำนวนที่น้อยมากในแต่ละปี โดยตั้งแต่สั่งเข้าประจำการครั้งแรกในปี 1999 จำนวน 4 ระบบนั้น กองกำลังป้องกันตนเองทางบกญี่ปุ่นนั้นก็ได้สั่งซื้อ Type-99 เจ้าประจำการมาทุกปีนับตั้งแต่ปี 199ต จนถึงปี 2018 ที่ผ่านมา โดยสั่งมาเฉลี่ยปีละไม่เกิน 10 ระบบ ทำให้ในปัจจุบันนั้น กองกำลังป้องกันตนเองทางบกญี่ปุ่นมี Type 99 เข้าประจำการรวมแล้ว 119 ระบบ จากจำนวนที่สั่งไปทั้งหมด 136 ระบบ
ในปัจจุบัน Type 99 ยังคงมีประจำการในญี่ปุ่นแต่เพียงประเทศเดียว เนื่องจากยังไม่มีการเสนอขายให้กับประเทศใด และล่าสุดเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมานั้นยังได้มีการเปิดเผยให้เห็นถึงปืนใหญ่อัตราจรรุ่นใหม่ของกองกำลังป้องกันตนเองทางบกที่พัฒนามาจาก Type 99 แต่จะเป็นปืนใหญ่อัตราจร”ล้อยาง” แทน แต่ก็ยังไม่ได้มีการเปิดเผยตัวโครงการมากสักเท่าใดนัก สุดท้ายก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าโครงการปืนใหญ่อัตราจรล้อยางขนาด 155 มิลลิเมตรที่พัฒนาต่อจาก Type 99 นั้นจะเป็นเช่นไร ก็คงต้องรอต่อไป

เขียน และเรียบเรียงโดย : แอดป๋อม