เนื่องจากเคยเห็นคำถามของสมาชิกท่านหนึ่งในกลุ่มประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ว่าด้วยเงินเดือนของชาวโซเวียต ว่าพวกเขาได้เงินเดือนกันไหม และได้เท่าไร และสาเหตุที่สู้ตะวันตกไม่ไหวในระยะยาว วันนี้ผู้เขียนจึงขอมาเล่าเรื่องสั้นๆ ว่าด้วยเงินเดือนของชาวโซเวียต และอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจโซเวียตต้องศิโรราบต่อระบอบทุนนิยมจากโลกตะวันตก (ส่วนสาเหตุอื่นที่เหลือนั้น ผู้เขียนจะเล่าให้ฟังอย่างละเอียดในโอกาสหน้าค่ะ)

หลังสงครามกลางเมือง และการเกิดขึ้นของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม ส่งผลให้ค่าเงินของโซเวียตเฟ้อหนักสุดๆ จากเดิมที่ 1 ปอนด์ = 45 รูเบิลในปี 1918 กลายเป็น 10000 รูเบิลในสองปีถัดมา เหมือนวันนึงคุณเป็นพนักงานกินเงินเดือนธรรมดาๆ ที่เคยได้เงินเดือนเดือนละ 15000 บาท แต่พอประเทศเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ไอ้เงิน 15000 ที่เคยได้ เหลือค่าแค่ 50 บาทถ้าไปแลกกับต่างชาติ หนักกว่านั้นคืออีกสองปีถัดมาคือ 1922 ค่าเงินก็เฟ้อหนักขึ้นไปอีก จากเดิม 1 ปอนด์ = 10000 รูเบิล กลายเป็น 1 ปอนด์ = 1 ล้านห้าแสนรูเบิล วิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้การคลังของโซเวียตประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการจัดการ เงินขาดดุลกว่า 1 ล้านล้านรูเบิล วิกฤตเงินเฟ้อขั้นสาหัสนี้จบลงในปี 1924 เมื่อรัฐบาลมุ่งเป้าไปที่การเร่งเก็บสำรองทองคำไว้ค้ำเงินที่จะผลิตใหม่เป็นเป้าหมายสำคัญ และมีการผลิตเงินใหม่ขึ้นมาใช้ในที่สุด ซึ่ง 1 รูเบิล จะมีค่าเท่ากับ 100 รูเบิลเดิม
สำหรับแรงงานธรรมดา จะคิดเงินเดือนตามผลผลิตที่ทำได้ แรงงานหรืออาชีพส่วนใหญ่จะได้ประมาณคนละ 70-120 รูเบิล และสำหรับคนที่ทำงานในตำแหน่งสูง เช่น เลขาธิการอันดับหนึ่งแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ใน region ต่าง ๆ , บุคลากรระดับสูงทางการทหาร, หัวหน้าวิศวกร จะได้รับเงินเดือน 120-350 รูเบิล โดยคนที่ทำงานในตำแหน่งสูงๆ เหล่านี้ จะสามารถซื้อของหรือกินข้าวใน “ร้านค้าปิด” ได้ โดยคุณภาพอาหารและสินค้าในร้านค้าปิดจะดีกว่ามาก และราคาถูกกว่าร้านค้าเปิดที่มีไว้สำหรับคนทั่วไปที่มีตำแหน่งงานต่ำ ๆ หรือกลาง ๆ เกือบสองเท่า มาดูเงินเดือนที่พวกเขาได้รับในแต่ละปีกันค่ะ 1950 - เงินเดือนเฉลี่ย 70 รูเบิล 1960 - เงินเดือนเฉลี่ย 80 รูเบิล 1970 - เงินเดือนเฉลี่ย 100 รูเบิล 1980 - เงินเดือนเฉลี่ย 110 รูเบิล มาดูราคาสินค้ากันบ้าง วอดก้าขวดหนึ่ง 3 รูเบิล แปลว่าเงินเดือน 1 เดือน สามารถซื้อได้ราวๆ 30 ขวด ข้าว 1 กิโลกรัม 1 รูเบิล อันนี้ซื้อข้าวได้ชิลๆ 100 กิโลกรัม เนื้อกิโลกรัมละ 4.5 รูเบิล เงินเดือน 1 เดือน ซื้อเนื้อได้ 20 กิโลกรัม เพียงเท่านี้ หลายคนคงจะสามารถเห็นได้ว่าคุณภาพชีวิตชาวโซเวียตนั้นไม่ได้ตั้งอยู่ในความหรูหราฟูฟ่ามากนัก เรียกได้ว่าพอมีพอกิน แต่สิ่งที่แย่ไปกว่านั้นคือร้านค้าเปิดมักจะไม่มีสินค้าวางขาย รองเท้าสักคู่ยังหายาก และยังต้องต่อแถวนานเป็นชั่วโมง ๆ เพื่อรอรับอาหารปันส่วนเช่นขนมปังแถวเดียว จนมีโจ๊กเล่ากันว่า ตอนที่ชาวโซเวียตเข้าแถวรอซื้อแมคโดนัลด์ที่เพิ่งเปิดใหม่นั้น ผู้สื่อข่าวถามว่ารอได้ยังไงตั้งแปดชั่วโมง คนที่รอคิวก็ตอบว่า นั่นไม่ใช่ปัญหา เขาเคยชินแล้วกับการรอแปดชั่วโมงเพื่อรอรับอาหารปันส่วนเช่นน้ำตาล หรือชา

นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งในเหตุผลเล็ก ๆ ที่เศรษฐกิจแบบโซเวียตต้องแพ้ทางให้แก่โลกเสรี นอกจากเพราะขาดแรงจูงใจในการผลิตเพราะมีระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางแล้ว สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะระบบการทำงานของโซเวียตถูกขับเคลื่อนด้วยรัฐตลอดเวลา ในโซเวียต ใครทำงานไม่ดีก็ไม่สามารถไล่ออกได้นะคะ ใช้ระบบจ้างงานตลอดชีวิตเหมือนราชการไทย และแน่นอนว่าคนมันก็เข้ามาในระบบมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน โดยไม่มีใครออก ทำให้ยากต่อการปรับแก้โครงสร้างระบบ อีกทั้งความต้องการของสังคมที่มีไม่จำกัด ทำให้หน่วยงานรัฐเองก็ต้องขยายออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะรัฐลงมือทำเองทุกอย่าง ทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน, บริหารราชการ แม้กระทั่งการวางแผนการผลิต ทำให้งานล้นมือรัฐบาล และเมื่อการที่หน่วยงานรัฐแตกหน่อออกไปเรื่อย ๆ ผสมกับการบริหารแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางแล้ว ก็ทำให้ระบบเกิดความเทอะทะไร้ประสิทธิภาพ มันไร้ประสิทธิภาพขนาดที่ว่า คนโซเวียตทำงานหามรุ่งหามค่ำก็จริง แต่ไม่สามารถซื้ออะไรจากร้านค้าได้เลยเพราะของมันหมดเกลี้ยง
และเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้แล้ว คนก็ยิ่งเอาใจออกห่างจากรัฐและระบบคอมมิวนิสต์มากขึ้น จนพาลคิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ เพราะจะส่งเสียงไปก็ไม่มีใครได้ยิน หรือได้ยินแล้วแต่ไม่ถูกตอบสนอง เพราะรัฐไม่สามารถอำนวยอะไรให้กับชีวิตเขาได้แล้ว เลยกลายเป็นว่าพวกเขาต้องพึ่งตัวเอง มีความทรหดอดทน และสิ่งนี้อาจหล่อหลอมให้พวกเขามีนิสัยแบบนึกถึงตัวเองก่อน (ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่าชาวโซเวียตเห็นแก่ตัว แต่หมายถึง ตัวฉันต้องมาก่อนส่วนรวม) ทำให้ภาคประชาชนเกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มกดดันที่เข้มแข็งได้ยาก
ผู้เขียน: Anna Chandee