“ถึงเวลาแล้วที่จะละทิ้งวิถีของเลนิน จากนี้ไป… แสงส่องนำทางของเราทั้งผองคือผลกำไรที่ได้มาด้วยวิธีทางสุจริต องค์เหนือหัวของเราคือเงินตรา ด้วยเงินตรานั้นจะนำเราไปสู่ความมั่งคั่งอันเป็นหนึ่งปทัสถานที่สำคัญยิ่งแห่งชีวิตของเรา”
ทศวรรษ 1990 รัสเซียซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายทั้งภายในและภายนอกรัฐ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่ตกต่ำจนเรียกได้ว่าอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกได้ว่าถังแตก แต่ในสภาวะที่เงินเฟ้อพุ่งแตะหลักสองพันเปอร์เซ็นต์ และปากท้องที่ไม่เคยรู้จักกับคำว่าอิ่มของชาวโซเวียตเก่านั้น อภิสิทธิ์ชนกลุ่มหนึ่งได้ก่อกำเนิดขึ้นมาด้วยการรวบเอาวิสาหกิจที่ประชาชนเคยร่วมกันสร้างมานานถึงเจ็ดทศวรรษมาไว้ในกำมือตน--Russian Oligarchs

หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต รัสเซียใหม่ที่เกิดจากกองเถ้าถ่านก็ถูกซัดด้วยปัญหาแรกที่ต้องเร่งแก้ไข คือเงินที่เฟ้อกว่า 2500% อันเกิดจากวิธีการบำบัดเศรษฐกิจแบบช็อคซึ่งมีขึ้นเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดขึ้นมาโดยทันทีทันใด หลังจากการล่มสลายของมันได้พิสูจน์แล้วว่าระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางนั้นไม่เวิร์ค การบำบัดแบบช็อคนี้มีหลายวิธีด้วยกัน เช่น ยกเลิกการควบคุมราคาสินค้า ปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด, เปิดการค้าเสรี และแปรรูปรัฐวิสาหกิจจากของรัฐไปเป็นของเอกชน
รั สเซียใหม่ซึ่งนำโดยบอริส เยลต์ซิน หวังจะนำโมเดลการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมาปรับใช้เพื่อให้ประเทศของตนเกิดระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยเร็วที่สุด มีการออกกฎหมายให้ประชาชนสามารถประกอบกิจการส่วนตัวได้ ชาวนาสามารถเช่าที่นาจากรัฐได้ พร้อมกันนั้น แผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจถูกเขียนขึ้นอย่างรีบเร่ง มีการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจของรัฐ กระบวนการต่างๆ เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง หน่วยงานรัฐถูกแปรสภาพเป็นบริษัทร่วมทุน เช่นกระทรวงอุตสาหกรรมก๊าซแปรรูปเป็น “ก๊าซโปรม” องค์กรทางการเงินแปรรูปเป็นธนาคารพาณิชย์ หน่วยงานเหล่านี้มีการจำหน่ายหุ้นบริษัท (Voucher) ให้แก่ลูกจ้างของวิสาหกิจและประชาชนทั่วไป โดยมีเจตนารมณ์ให้รัฐถือครองหุ้น 51% และประชาชนทั่วไปและลูกจ้างได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจนั้นอีก 49% ซึ่งดูเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ราบรื่นและเป็นธรรม ตามอุดมคติของโมเดลประชาธิปไตยสังคมนิยมสวีเดน
แต่ระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกในพรรคคอมมิวนิสต์และเงินเฟ้อกว่าสองพันเปอร์เซ็นต์ไม่ปล่อยให้มันจบลงอย่างสวยงามเช่นนั้น

เหมือนฉลามได้กลิ่นเลือด, คนวงในรู้ทันทีว่านี่คือโอกาสทองเมื่อเยลต์ซินออกแผน “Loans for Share” ขึ้น ซึ่งเป็นการแลกเอาหุ้นของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจให้กับเอกชน เพื่อเอาเงินที่ได้มาจุนเจือรายได้ของรัฐบาล หลายคนใช้เส้นสายในหมู่คนวงในสร้างความมั่งคั่งให้กับตนภายในไม่กี่ปี ดังเช่นนายมีฮาอิล คอร์โดคอฟสกี เจ้าของธนาคาร ‘เมนาเตป’ ได้หุัน 78% ของบริษัทน้ำมันใหญ่ ‘ยูโกส’ มาได้ในราคาเพียง 310 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ทั้งที่ราคาจริงของมันควรจะเป็น 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วยมีเส้นสายใกล้ชิดกับเยลต์ซินในตำแหน่งผู้ให้คำปรึกษาทางเศรษฐกิจ
หรือนายบอรีส เบเรซอฟสกี เจ้าของสื่อเจ้าใหญ่ อันได้แก่ช่อง 1 หรือ ORT Channel มีส่วนสำคัญในการช่วยเยลต์ซินหาเสียงจนชนะเลือกตั้งครั้งที่สองในปี 1996 แซงหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ เกนนาดี ซยูกานอฟ อีกทั้งยังผูกพันธมิตรกับมหาเศรษฐีอีกรายคือ โรมัน อบราโมวิช โดยการฮั้วประมูลให้โรมันได้บริษัทน้ำมัน ‘ซิบเนฟต์’ ไปในราคาเพียง 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากราคาจริง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
เจ้าของธุรกิจเหล่านี้รวยขึ้นมาทันทีทันใด เช่นเจ้าของบริษัทน้ำมัน เพราะตนประมูลได้มาในราคาถูกเหลือเชื่อตั้งแต่แรก ทำให้ต้นทุนของน้ำมันที่ตนผลิตได้นั้นก็ราคาถูกตาม ทำให้เมื่อนำน้ำมันที่ผลิตได้ไปขายกับต่างประเทศ ตนจึงสามารถกวาดกำไรเข้ากระเป๋าได้มหาศาล อีกทั้งตัว Voucher ที่ขายให้แก่ประชาชนทั่วไปเพื่อให้แต่ละคนได้เป็นเจ้าของหุ้นของกิจการต่าง ๆ ในราคาใบละ 10000 รูเบิลนั้น ก็ถูกนักธุรกิจเหล่านี้กว้านซื้อด้วยราคาที่เรียกได้ว่าถูกแล้วถูกอีก เพราะเงินที่เฟ้อหนักอย่างมากมายมหาศาล มีผลทำให้เศรษฐกิจมันย่ำแย่เสียจนไม่มีของวางขายตามร้านค้า ประชาชนจึงไม่มีทางเลือกมากนัก ระหว่างแผ่นกระดาษที่ระบุไว้ว่า 10000 รูเบิล ซึ่งพวกเขาเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์การลงทุนหรือถือหุ้นส่วนในองค์กรรัฐมาก่อน กับขนมปังที่สามารถเก็บไว้กินได้ทั้งเดือน ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาก็ต้องขาย Voucher แลกขนมปังอยู่แล้วในสภาพเศรษฐกิจเช่นนั้น

นอกจากนั้น อิทธิพลของพวกเขาที่มีต่อการเมืองรัสเซียก็มีอยู่มากโข มากจนสามารถเรียกได้ว่าเป็นอำนาจหนึ่งที่สามารถแทรกแซงปรับเปลี่ยนกลไกของรัฐได้เลยทีเดียว เช่นบทบาทของเบเรซอฟสกีต่อการเมืองรัสเซียในยุคเปลี่ยนผ่านจากเยลต์ซินไปยังปูติน
ช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งสองมีความสนิทสนมกันมาก เช่นการไปเล่นสกีด้วยกันที่สวิตเซอร์แลนด์ หรือการที่ปูตินไปเยี่ยมเบเรซอฟสกีอย่างลับๆ ที่สเปนถึงห้าครั้ง และอีกทางหนึ่งคือปูตินพยายามทำตนให้เบเรซอฟสกีและ ‘ครอบครัว’ ของเยลต์ซินไว้วางใจในตัวเขา ส่วนเบเรซอฟสกีเองก็ต้องการผลักดันปูตินให้เป็นประธานาธิบดี เนื่องจากคะแนนนิยมของเยลต์ซินก็กำลังตกต่ำ ช่วงสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น เยลต์ซินมีคะแนนนิยมจากประชาชนเพียง 2% ทำให้สถานะของ ‘ครอบครัว’ รวมถึงตัวเบเรซอฟสกีนั้นไม่มั่นคงตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเยฟเกนี พรีมาคอฟ อดีตรมต. กระทรวงการต่างประเทศซึ่งถูกเยลต์ซินไล่ออกเพราะนโยบายปราบปรามทุจริตของเขานั้นกระทบอย่างจังต่อผลประโยชน์ของเยลต์ซินและครอบครัว จนกลายมาเป็นศัตรูทางการเมืองของเยลต์ซินนั้นกำลังป๊อปปูลาร์ในหมู่ประชาชน ดังนั้นถ้าหากเบเรซอฟสกีและ 'ครอบครัว' ยังอยากมีอิทธิพลต่อไปในถนนสายการเมือง การการันตีฐานอำนาจของพวกตนด้วยการปั้นปูตินขึ้นมาเป็นทายาททางการเมืองต่อจากเยลต์ซิน ก็ถือเป็นทางเลือกสำคัญที่ควรทำ อีกทั้งลักษณะต่างๆ ของปูตินก็ค่อนข้างถูกใจชาวโซเวียต ด้วยความแข็งแรงแบบนักกีฬา เฉลียวฉลาด สง่างาม และยังหนุ่มแน่น และที่สำคัญคือดูเป็นคน “ซื่อ” (อ้างอิงจาก รัสเซียสมัยซาร์และสังคมนิยม, หน้า 623) เหมาะกับการถูกชักใยให้เป็นไปตามทิศทางที่ ‘ครอบครัว’ ต้องการ
และก็เป็นดังที่หวัง อำนาจสื่อในมือเบเรซอฟสกีทำให้ปูตินชนะเลือกตั้งอย่างขาดลอยในปี 2000 แต่เกมกลับพลิกผัน เมื่อเบเรซอฟสกีและครอบครัวถูกปูตินเลื่อยขาเก้าอี้เสียเหี้ยน ยึดเอารัฐวิสาหกิจในมือของพวกเขากลับคืนมาเป็นของรัฐ แล้วแทนที่คนเหล่านั้นด้วย ‘ครอบครัวใหม่’ ของปูตินเอง

แม้วลาดีมีร์ ปูติน จะเข้ามามีอำนาจทางการเมืองแทนเยลต์ซินในท้ายที่สุด อันเป็นผลให้เศรษฐีรัสเซียทั้งหลายที่มีความใกล้ชิดกับกลุ่มเยลต์ซินต้องเสียศูนย์ บ้างก็หนีตายไปต่างประเทศ แต่จะอย่างไรก็ตาม เศรษฐีรัสเซียเหล่านี้ก็ยังหาช่องทางในการเข้าไปมีอิทธิพลทางการเมืองได้อยู่ดี บางส่วนเข้าร่วมกับปูติน เช่นวลาดีมีร์ ลีซิน ที่ต่อมาประกาศวางมือจากวงการเมือง เศรษฐีรัสเซียบางส่วนรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภา Duma เช่นโรมัน อบราโมวิช ส่วนคอร์โดคอฟสกีที่อาจหาญถึงขั้นซื้อสื่อและยัดเงินพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อเก็งตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไป ก็ถูกปูตินสกัดดาวรุ่งไว้ก่อน
ครอบครัวใหม่ของปูตินนั้นก็มีโครงสร้างที่ซับซ้อน ปกครองด้วยวิธีแบ่งแยกและปกครองโดยปูตินเอง ทำให้มีการคานอำนาจกันกันอย่างเข้มข้นระหว่างเหล่าก๊กต่างๆ ที่อยู่ใต้ปีกของปูติน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มปัญญาชนเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก หรือ Civiliki, กลุ่มก๊วนนักธุรกิจ และกลุ่มที่มีอิทธิพลมากที่สุด ซึ่งก็คือกลุ่มของบุคลากรระดับสูงทางการทหารและหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ หรือ Siloviki การแข่งขันของกลุ่มเหล่าต่างๆ นี้ได้มีให้เห็นอยู่ประปราย ดังเช่นกรณีอเล็กเซย์ คูดริน ปัญญาชนเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่พยายามลบล้างอิทธิพลของเหล่า Siloviki ที่มีเหนือเศรษฐกิจ ด้วยมองว่าพวก Siloviki ที่มีอำนาจรักษาระเบียบทางการเมือง ทั้งยังครอบครองวิสาหกิจระดับชาติ (รอสเนฟต์, แอโรฟลอต) แต่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจหรือการลงทุนเลยนั้นกำลังทำให้เศรษฐกิจรัสเซียอ่อนแอและถดถอย สิ่งที่คูดรินทำก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อ Siloviki เป็นอย่างมาก เพราะมันกระทบถึงฐานอำนาจ (และเงิน) ของพวกเขาโดยตรง
โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนคิดว่าโมเดลการคานอำนาจกันระหว่างกลุ่มก๊กต่างๆ เหล่านี้ มีความคล้ายคลึงกันกับโครงสร้างการคานอำนาจกันของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในสมัยของสตาลิน โดยสตาลินใช้หน่วย MVD (กระทรวงกิจการภายใน) ในการถ่วงดุลไม่ให้สมาชิกพรรคหรือกองทัพมีอำนาจเหนือไปกว่ากัน แต่ก็ไม่ต้องกลัวว่าหน่วย MVD ที่มีอำนาจล้นฟ้าจะมีอำนาจเหนือไปกว่าเขา เพราะในหน่วย MVD เองนั้น สตาลินก็เลี้ยงให้พวกเขาต่อสู้แข่งขันกันเองโดยมีสตาลินเป็นผู้ตัดสินเช่นเดียวกัน
การมีอยู่ของกลุ่มก๊กเหล่านี้ทำให้การเมืองรัสเซียเป็นเหมือนเดิมอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต นั่นก็คือการมีอำนาจอื่นเข้ามาแทรกแซงกลไกรัฐ สมัยสตาลินมี MVD สมัยปูตินก็มี Siloviki เป็นเครื่องมือเช่นเดียวกัน บวกกับความเคยชินของชาวรัสเซียต่อระบบการปกครองแบบเน้นตัวบุคคล ก็ทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Russian Oligarchs จะยังคงยืนยงคงคู่กับการเมืองรัสเซียไปอีกนาน
ผู้เขียน: Anna Chandee