ความก้าวหน้าสู่อนาคต...เรื่องราวจุดเริ่มต้นของหนึ่งในเครื่องบินสกัดกั้นชื่อดังของโลกจากอดีตสหภาพโซเวียต หนึ่งในเครื่องบินรบที่เร็วที่สุดในโลก..."Mikoyan MiG-31 Foxhound"

ในช่วงต้นปี 60s ขณะที่ E-155P รุ่นต้นแบบสำหรับ MiG-25 รุ่นสกัดกั้นกำลังอยู่ในโปรแกรมทดสอบ ทาง Mikoyan ก็ได้พิจารณาเกี่ยวกับรุ่นต่อไปที่จะมาแทนแล้วเรียบร้อย ทางสหภาพโซเวียตนั้นประสบปัญหาด้านการป้องกันทางอากาศในส่วนของตอนเหนือของประเทศมายาวนาน สนามบินที่มีรันเวย์สภาพดีและมีสถานีนำทางที่ใช้งานได้ดีในทางตอนเหนือนั้นมีจำนวนที่น้อยมากและแต่ละที่อยู่ห่างกันค่อนข้างมาก จึงเป็นปัญหาหลักในการส่งเครื่องบินไปป้องกันน่านฟ้าแถบนั้น และเครือข่ายเรดาร์ป้องกันภัยทางอากาศที่มีอยู่ในขณะนั้นก็สามารถตรวจจับเป้าหมายเพดานบินต่ำได้แค่ในระยะที่สั้น ในส่วนของ MiG-25PD, Tu-128 และ Su-15TM ที่ประจำการอยู่ในหน่วยของ PVO ประจำทางตอนเหนือนั้นก็ประสบกับปัญหาด้านขีดจำกัดของพิสัยการบิน ทาง Mikoyan จึงมีแผนที่จะพัฒนา MiG-25P ไปเป็นเครื่องบินสกัดกั้นระยะไกลที่มีขีดความสามารถในการลาดตระเวนเดี่ยวๆได้และสามารถป้องกันโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแนวคิดนี้ก็ถูกสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาลและผู้บัญชาการของ PVO (PVO = Protivovozdúshnaya oboróna หรือ กองกำลังป้องกันภัยทางอากาศ)

24 พฤษภาคม 1968 ทางสภารัฐมนตรีได้ออกคำสั่งพัฒนาระบบสกัดกั้นทางอากาศรุ่นใหม่ในรหัส S-155 ซึ่งเป็นหน้าที่ของทาง Mikoyan ที่จะต้องออกแบบและพัฒนารุ่นสกัดกั้น, จู่โจมและลาดตระเวนจากเครื่องบินต้วต้นแบบรหัส E-155M ที่ภายหลังถูกเปลี่ยนเป็น E-155MP ซึ่งตามข้อกำหนดของทางรัฐบาลแล้วเจ้าเครื่องบินสกัดกั้นรุ่นใหม่นี้ต้องมีความเร็วพื้นฐานที่ 3,000 กม/ชม. และสามารถทำลายเป้าหมายหลายๆเป้าหมายได้ภายในการบินเพียงครั้งเดียว ในส่วนของข้อกำหนดเกี่ยวกับเครื่องบินสกัดกั้นรุ่นใหม่จาก PVO นั้นจะมีแต่เพียงแค่การเพิ่มพิสัยการบินและความทนทานซึ่งทางด้านความเร็วและเพดานบินนั้นไม่ได้ต่างไปจาก MiG-25P เลยแม้แต่น้อย ต้องมีพิสัยการสกัดกั้นที่ระยะ 700 กิโลเมตรเมื่อบินที่ความเร็ว 2,500 กม/ชม. และจะถูกเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 กิโลเมตรเมื่อบินที่ความเร็วต่ำกว่าเสียง และหนึ่งในความต้องการหลักก็คือความสามารถในการทำลายขีปนาวุธร่อนเพดานบินต่ำได้ในระยะไกล เหตุผลก็คือขีปนาวุธนั้นอาจใช้หัวรบนิวเคลียร์และมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะระเบิดเมื่อถูกทำลายซึ่งอาจจะทำให้สูบเสียเครื่องบินสกัดกั้นหรือฐานขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานจากระยะหลายกิโลเมตรได้


ด้านการดีไซน์พื้นฐานนั้นถูกออกแบบมาทั้งหมดสามรูปแบบในช่วงต้นซึ่งหลักๆที่แตกต่างกันก็คือในส่วนของปีกและหางเสือ แต่ช่องรับลมหรือตัวเครื่องนั้นแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงไปจาก MiG-25 เลย หนึ่งในดีไซน์แรกของ E-155MP นั้นใช้ศึกษาเรื่องปีกแบบ variable geometry (VG) หรือแบบปีกพับได้ซึ่งจะค่อนข้างดูเหมือนการรวมกันระหว่าง MiG-23 และ MiG-25 ซึ่งเวอร์ชั่นนึงในห้องนักบินจะเป็นสองที่นั่งเรียงกันส่วนอีกเวอร์ชั่นนึงคือสองที่นั่งคู่กันเหมือนแบบ F-111 ชุดฐานล้อนั้นจะค่อนข้างแปลกตรงที่ใช้ทั้งหมดสี่ล้อเพื่อลดระยะรันเวย์ซึ่งก็ถูกเปลี่ยนไปเป็นแบบสองล้อในภายหลัง ทางด้านอาวุธนั้นก็ประกอบไปด้วยขีปนาวุธอากาศสู่อากาศระยะไกล K-33 จำนวน 3 หรือ 4 ลูกบรรทุกด้านใต้ตัวเครื่องและขีปนาวุธระยะใกล้บรรทุกด้านใต้ปีก

เมื่อพูดถึงดีไซน์แบบปีกพับได้นั้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบินแต่ก็ทำให้น้ำหนักมากขึ้นด้วยเช่นกันอีกทั้งยังทำให้โครงสร้างมีความซับซ้อนขึ้นอีกด้วย ต่างจาก MiG-23 ตรงที่ E-155MP หรือ MiG-31 ในอนาคตนี้ไม่ได้เอาไปใช้ในการสู้กับเครื่องบินขับไล่ที่ปีกพับนั้นจะช่วยให้มีความได้เปรียบ จึงส่งผลให้ดีไซน์นี้ถูกตัดทิ้งไป


ดีไซน์รหัส izdeliye 518-21 ที่เสนอในปี 1968 นั้นถูกปัดตกไปเนื่องจากอาจมีน้ำหนักที่มากเกินไปและมีเพดานบินกับอัตราการใต่ระดับที่น้อยเกินไป ในปีถัดมาจึงมีการเสนอดีไซน์ izdeliye 518-22 ซึ่งมีปีกแบบธรรมดาและหางเสือแบบ MiG-25 มีที่นั่งแบบเรียงกัน บรรทุกขีปนาวุธ K-22 แบบเป็นคู่เรียงกันและฐานล้อถูกปรับใหม่หมด ซึ่งคุณสมบัติทั้งหมดนี้ถูกนำเอาไปใช้กับโครงการ E-155MP จริงๆในภายหลัง


ในส่วนของดีไซน์อื่นๆที่มีนั้นก็ได้แก่ 518-31 ซึ่งไร้ข้อมูลและ 518-55 ที่ส่วนตัวเครื่องด้านหน้าและกลางนั้นเป็นแบบ MiG-31 แต่ส่วนหางหลังนั้นเหมือนกับ MiG-25 แต่มีปีกที่เหมือนกับเครื่องบินขับไล่ MiG-29 นอกจากนี้ยังมี E-158 ที่เป็นดีไซน์ Delta wing แบบไร้หางและ E-155MF รุ่นจู่โจม/ทิ้งระเบิดที่นั่งคู่กันเหมือนกับ Su-24


เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรบป้องกันตัวระยะใกล้ E-155MP จึงได้รับการติดตั้งปืนใหญ่อากาศหกลำกล้องขนาด 23 มม. GSh-6-23 พร้อมกระสุน 260 นัดที่มีอัตราการยิงพื้นฐานอยู่ที่ 6,000 นัด/นาทีและสามารถเพิ่มเป็น 8,000 นัด/นาทีได้หากจำเป็น

ในท้ายที่สุดตัวต้นแบบ E-155MP จริงๆก็ถูกสร้างมาโดยใช้ดีไซน์แบบ izedeliye 518-22 ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับ MiG-25 รุ่นก่อนหน้า โดยสร้างตัวต้นแบบออกมาทั้งหมดสองลำ ถูกทดสอบและพัฒนาไปเรื่อยๆจนเกิดมาเป็น Mikoyan MiG-31 Foxhound ในที่สุด…
.
.
ถ้าหากสงสัยว่าทำไมจึงเรียกว่า "ความก้าวหน้าสู่อนาคต"....ก็เพราะมันจะใช้ยาวไปจนถึง 2030+ เลยนะสิครับ(ฮา)
.
.
Source :
Mikoyan MiG-31: Defender of the Homeland
https://www.thisdayinaviation.com/tag/mikoyan-e-155mp/
https://military.wikireading.ru/44987
________________________________________________________________________________________
หากมีข้อมูลผิดพลาดประการใดก็ต้องขออภัยมา ณ ทีนี้ด้วยนะครับ
#mig25 #mig31 #soviet #pvo #mikoyan #mikoyangurevich